เรื่องนี้...HOT จริงๆ

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

เที่ยวเขื่อนสิริกิติ์ อุตรดิตถ์ ช่วงสงกรานต์

สงกรานต์ปี 2555 ที่อุตรดิตถ์ปีนี้ ได้มีโอกาสต้อนรับญาติ ๆ จากกรุงเทพ และสระบุรี ซึ่งเดินทางมาเยี่ยม และพักผ่อนวันสงกรานต์ ตามธรรมเนียมของชาวลับแล ก็ต้องต้อนรับขับสู้กันหน่อย ขาดเสียไม่ได้คือการไปทำบุญใส่บาตรที่วัด ปีนี้ไปทำบุญที่วัดศรีอุทุมพรคณารักษ์ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และวันรุ่งขึ้นเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวภายในจังหวัด จุดแรกเลือกไปที่เขื่อนสิริกิติ์ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์            
"เขื่อนสิริกิติ์" เดิมเขื่อนนี้ เรียกชื่อว่า เขื่อนผาซ่อม ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นามว่า เขื่อนสิริกิติ์  เมื่อ พ.ศ. 2511 โดยก่อสร้างปิดกั้นแม่น้ำน่าน บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
 ที่นี่ปีนี้ทางเขื่อนอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวดีมาก .... ที่จอดรถให้จอดบนสันเขื่อน ขึ้นทางฝั่งน้ำด้านเหนือ แต่พอขากลับให้ลงทางฝั่งน้ำด้านใต้ เรียกว่าขับรถขึ้นไปพักผ่อนชมวิว รับประทานอาหารเสร็จ ก็เดินทางผ่านสันเขื่อนลงอีกด้านหนึ่งฝั่งใต้ของแม่น้ำน่าน ทำให้มองเห็นภาพอ่างเก็บน้ำเต็มตาเลยครับ ...
สันเขื่อน.....อ่างเก็บน้ำช่วงเมษา 2555


ลงจากรถก็เจอเจ้าถิ่นสีสวยมาก

            บรรยากาศบนสันเขื่อนก็มีนักท่องเที่ยวมากันอย่างล้นหลาม มีซุ้มร้านอาหารจำหน่าย ครอบครัวนักท่องเที่ยวนำรับประทานอาหารกันเป็นกลุ่ม ๆ  อาหารที่ขึ้นชื่อของร้านบนสันเขื่อนคือ ปลาเผา ส้มตำ หมูย่าง ฯลฯ อร่อย ๆ ทั้งนั้น
ที่สะดุดตาก็คือมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งกำลังสำรวจความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่ออาหารพื้นบ้านวัฒนธรรมล้านช้างจังหวัดอุตรดิตถ์  รูปแบบของน้อง ๆ นักศึกษาก็คือ ปรุงอาหารพื้นบ้านประมาณ 11 อย่าง มาบริการให้นักท่องเที่ยวชิม ใครชิมแล้วชอบชนิดไหนก็จะตักใส่ภาชนะพลาสติก ให้ไปนั่งทานได้ พร้อมกับมีข้าวเหนียวห่อใบตองให้ด้วย

นักท่องเที่ยวกำลังชิมอาหารพื้นบ้านและกรอกแบบสำรวจ
 ผมเห็นเป็นกิจกรรมที่น่าส่งเสริมก็เลยชวนญาติๆเข้าไปชิมและตอบแบบสอบถาม ผมเคยรับราชการอยู่แถบอำเภอที่มีวัฒนธรรมนี้เป็นเวลาหลายปี เห็นว่าน้อง ๆ กลุ่มนี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ และเลือกกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้านของแถบนี้ไว้ จึงภูมิใจและสนับสนุนครับ  ผมจะแนะนำอาหารที่น้อง ๆ ทำมาให้ชิมทีละอย่างนะครับ...
   

                            เอาะผัก 
แกงเอาะผัก (เป็นชื่อเรียกของชาวอำเภอน้ำปาด อำเภอฟากท่า อำเภอบ้านโคก รวมถึงพี่น้องชาวลาว  )  
หน้าตาอาหารจานนี้ถ้าไม่ใส่ไก่ ก็คล้าย ๆ จอผักกาดของทางภาคเหนือเลยละ
           




เอาะไก่

 อีกจานคือเอาะไก่ จานนี้เหมือน ๆ กับแกงหยวกใส่ไก่ ใส่กะทิด้วย รสชาติอร่อยไปอีกแบบ

  
แกงหมักหมี้ปลาย่าง

จานนี้เป็นแกงหมักหมี้ปลาย่าง  (แกงขนุนใส่ปลาย่าง)  แกงนี้ถือเป็นมงคลสำหรับคนที่ชอบเอาเคล็ดเรื่องการเสริมดวง เขาว่ากันว่ากินแกงขนุนวันขึ้นปีใหม่จะมีความรุ่งเรือง ร่ำรวย เพราะกินของหนุนมา  ถ้าจะให้ดีก็ใส่หมู ใส่กล้วยด้วยจะยิ่งดีไปใหญ่ ทำอะไรจะได้หมู ๆ กล้วยๆ    ดูหน้าตาแกงจานนี้กัน
          
              

จานนี้แกงหมักหมี้ใส่กระดูกหมู  พูดถึงขนุนตอนนี้ทุกสวนจะออกลูกดก กินได้ทั้งสุก ดิบก็นำมาประกอบเป็นอาหารอย่างที่น้อง ๆ ทำกัน ชาวเขตอำเภอน้ำปาด ฟากท่า บ้านโคกเรียกขนุนว่า หมักหมี้    




อ่อมบอนหนัง

จานนี้เป็นอ่อมบอนหนัง   บอนเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ขึ้นในที่ชื้นมีน้ำขัง นำมาประกอบอาหารหรือเลี้ยงสัตว์ ถ้านำมาประกอบอาหารต้องทำให้เป็นไม่เช่นนั้นจะคันเมื่อเวลารับประทาน คนในหมู่บ้านจะมีแม่ครัวที่แกงเก่ง ๆ  อยู่ไม่กี่คน แต่ละคนก็จะมีเคล็ดลับเป็นของตัวเอง ส่วนหนัง คือหนังหมู หรือหนังวัว หรือหนังควาย ที่นำมาเคล้าเกลือตากแห้งเวลาทำต้องแช่น้ำก่อน ....ตอนที่ย้ายมารับราชการใหม่ ๆ ขึ้นมาพื้นที่เขตนี้ เอาหนังที่เขาหมักเกลือตากแห้งแล้ว นำไปย่างไฟ ทุบ ๆ ให้แตกนำมาเคี้ยว(เหนียวมาก) แกล้มสาโท  อร่อยอย่าบอกใคร
             

อ่อมบอนหมู
จานนี้เช่นกันเป็นแกงที่ทำจากบอน แต่ใส่หมู  ใส่กะทิด้วย



แกงหน่อไม้
จานนี้ขาดไม่ได้ทางพื้นที่แถบนี้ ถ้าไปนิเทศงานทุกครั้งต้องบอกให้เตรียมอาหารพื้นบ้านแบบนี้ไว้เลย นั่นคือแกงหน่อไม้ ใส่น้ำคั้นใบย่านาง 

แกงหน่อไม้ทรงเครื่อง
ส่วนจานนี้เป็นแกงหน่อไม่ทรงเครื่อง หน้าตาน่ารับประทานมาก ใส่ฟักทอง บวบ  ใส่เห็ดขอนขาว(เห็ดที่ขึ้นในท้องถิ่น) อร่อยครับจานนี้






แกงหยวก  
จานต่อไปเป็นอาหารท้องถิ่นที่มีเกือบทุกหมู่บ้าน นั่นคือ แกงหยวก  บางพื้นที่ก็ใช้หยวกกล้วยน้ำว้า แต่บางพื้นที่ใช้กล้วยป่าที่ชาวบ้านเรียกว่ากล้วยหก จะกรอบ อร่อยมากเมื่อนำมาแกง น้อง ๆ เลือกแกงใส่ไก่ เป็นไก่พื้นบ้านเข้ากันครับ เวลามีงานบุญกองข้าว จะได้กินกันบ่อย ๆ





แกงหยวกใส่กะทิ
นี่เป็นอีกจานที่ทำยากหยวกกล้วย เป็นแกงหยวกใส่กะทิ คนชอบกะทิ ก็จานนี้เลยครับ จานนี้น้อง ๆ ใส่เส้นขนมจีนตากแห้งลงไปด้วย เป็นแกงพื้นเมืองทางนี้จริง ๆ เพราะแกงบางชนิดเขาจะใส่เส้นขนมจีนตากแห้งไปด้วยครับ


แกงผักหวาน
สุดท้ายแกงยอดฮิตของวัฒนธรรมพื้นเมืองแถบนี้ คือแกงผักหวาน ถ้าจะให้ได้รสชาติจริง ๆ ต้องใส่ไข่มดแดง ถ้าท่านขับรถจากอุตรดิตถ์ ขึ้นไปทางน้ำปาด ฟากท่า บ้านโคก ท่านจะเห็นยอดผักกองบนพื้นแคร่ไม้ไผ่ข้างทาง และมีห่อใบตองวางมากมาย นั่นคือยอดผักหวาน ซึ่งจะเริ่มออกตั้งแต่เดือนมีนาคม จนต้นเดือนพฤษภาคม และ จะมีจานใส่วัตถุเป็นเม็ดๆ สีขาว ๆ ให้ท่านลงไปดูได้เลยนั่นคือไข่มดแดง  แต่ที่น้อง ๆ ทำวันนี้น้องเลือกใส่ไก่ เพราะไข่มดแดงแพงมาก นั่นเอง  ดูหน้าตาแกงจานนี้กันครับ

พาญาติ ๆ และแนะนำนักท่องเที่ยวชิมฝีมืออาหารพื้นเมืองของวัฒนธรรมล้านช้างอุตรดิตถ์จนครบทุกอย่าง น้อง ๆ บริการน้ำครบถ้วน  แล้วเดินชมวิว ทิวทัศน์ แวะร้านขายของฝาก ซื้อปลาเผา แล้วเดินทางต่อไปยังจุดท่องเที่ยวอื่น  อิ่มใจครับที่ได้มาถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ได้เหยียบแผ่นดิน ได้กินอาหาร ได้สำราญกับธรรมชาติ ของจังหวัดอุตรดิตถ์....... 
ขอขอบคุณน้อง ๆ ทีวิจัยทุกคน อาจารย์ที่ปรึกษา และผู้ร่วมกิจกรรมดี ๆ ด้วยความจริงใจครับ   และถ้ามีโอกาสเชิญให้คำแนะนำ  ที่สวนห้วยผึ้ง จันทน์ผา ลับแลบ้างครับ ยินดีต้อนรับ...............

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น&สอบถามมาได้นะครับ