เรื่องนี้...HOT จริงๆ

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

ลับแล เมืองแห่งทุเรียน ลางสาด ภาคเหนือ

คำขวัญอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
งามพระแท่นศิลาอาสน์ ถิ่นลางสาดรสดี เมืองพระศรีพนมมาศ
แหล่งไม้กวาดตองกง ดงหอมแดงลือชื่อ งามระบือน้ำตกแม่พูล
เล่ากันว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ ได้ประทับนั่งบำเพ็ญภาวนาที่พระแท่นศิลาอาสน์ ทรงเสด็จประทับยืนและเดินจงกลมที่วัดพระยืนพุทธบาทยุคล ได้ทอดพระเนตรไปยังทิศเหนือ ขณะประทับยืนทรงเห็นหนองน้ำกว้างใหญ่ ต่อมาเรียกกันว่า หนองพระแล เหนือหนองพระแลออกไปไกลลับสายตา เป็นป่าใหญ่แต่มีลักษณะเป็นที่ตั้งของเมืองในป่านั้น ไม่สามารถแลเห็นด้วยสายตา ต่อมาเมืองนั้นจึงได้ชื่อว่า เมืองลับแล
ลับแลเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัด สภาพพื้นที่เป็นภูเขา มีที่ราบเชิงเขาเหมาะสำหรับการทำเกษตรพืชสวน ประชากรส่วนใหญ่ปลูกผลไม้ประจำถิ่น  เดิมชาวลับแลปลูกพืชสวนลางสาด และทุเรียนพื้นเมืองเป็นหลัก พื้นที่ที่ใช้ปลูกส่วนใหญ่ปลูกบนเขา ต่อมามีการพัฒนาพันธุ์ โดยการเปลี่ยนยอดพันธุ์โดยนำเอายอดลองกองมาเสียบกิ่งตอลางสาด และนำเอายอดทุเรียนหมอนทองมาเสียบยอดกิ่งตอทุเรียนพื้นเมือง 
ทุเรียนหมอนทองเริ่มติดเมื่อปี 2554
ทุเรียนพื้นเมืองของลับแลที่มีชื่อเสียงคือ..หลงลับแล  คาดว่าน่าจะเป็นลูกผสมธรรมชาติระหว่างทุเรียนพื้นเมืองกับทุเรียนพันธุ์  สังเกตว่าทุเรียนพื้นเมืองจะลูกเล็กเมล็ดใหญ่ เนื้อน้อย กลิ่นแรง รสหวานแต่..หลงลับแล จะลูกโตกว่าพื้นเมือง เมล็ดเล็ก เนื้อมากกว่า กลิ่นไม่ฉุน เนื้อหวานมันกลมกล่อม  และมีพันธุ์พื้นเมืองอีกพันธุ์หนึ่งที่โด่งดังคือพันธุ์..หลินลับแล  ซึ่งการปลูกทุเรียนให้มีรสชารติอร่อยอย่าง หลงลับแล หลินลับแล ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ระดับน้ำทะเล อากาศ ปริมาณน้ำฝน และปัจจัยอีกหลายอย่าง  ฉะนั้นการนำทุเรียนพื้นเมือง 2 พันธุ์นี้ไปปลูกที่อื่น รสชาติจะไม่เหมือนที่ปลูกในอำเภอลับแล 

ลองกองเริ่มติด
ส่วนลางสาดเป็นผลไม้ที่ปลูกได้ดีในเขตพื้นที่อำเภอลับแล ซึ่งเดิมชาวสวนนิยมปลูกกันมาก ลางสาดมีรสหวานอมเปรี้ยว เปลือกบาง ยางที่เปลือกมาก เวลารับประทานปลอกเปลือกไม่เป็นยางจะสัมผัสเนื้อในจะทำให้รสขม แต่ถ้าปลอกเป็นยางไม่สัมผัสเนื้อในจะมีรสชาติหวานอมเปรี้ยวชวนรับประทานอย่างยิ่ง   การปลูกส่วนใหญ่ใช้เมล็ดเพาะ พอกล้าโตพอสมควรก็จะย้ายไปปลูกในสวน  ดูแลเหมือนผลไม้ทั่วไป ใช้เวลา 7 – 8 ปี ก็จะให้ผลผลิต แต่ถ้าไม่ดูแลอย่างใกล้ชิด ก็จะใช้เวลาเป็น10 ปี จึงจะให้ผล  ปัจจุบันชาวสวนเปลี่ยนพันธุ์โดยตัดต้นลางสาดให้แตกกิ่งใหม่แล้วนำยอดลองกองไปเสียบ ทำให้ลางสาดเหลือน้อย ค่าทางการตลาดลางสาดราคาถูกมากส่วนใหญ่ราคาไม่ถึงกิโลละ 5 10 บาท ส่วนลองกองราคาจะสูงกว่า และเริ่มเกิดปัญหาเรื่องราคาบ้างแล้ว


ขนุนติดทั้งปี

ขนุนปลูกเมื่อปี2553 ลูกโตมากเทียบกับถังสี
การปลูกผลไม้ของชาวลับแลจะใช้ต้นกล้าพื้นเมืองปลูกเป็นส่วนใหญ่ เมื่อต้นพื้นเมืองโดพอสมควรก็จะนำกล้าพันธุ์ไปทาบ หรือนำยอดพันธุ์ไปเสียบ การปลูกก็จะขุดหลุมปลูก บนเขาก็จะขุดหลุมกว้างพอให้ดินอุ้มรากในถุงเพาะลงได้ เพราะถ้าขุดหลุมใหญ่ตามตำราเกษตร พอถึงฤดูแล้งขาดน้ำก็จะตาย แต่ถ้าปลูกในพื้นที่ราบก็จะขุดปลูกตามตำราเกษตร  และสำคัญอย่างยิ่ง (เน้นสำคัญมาก) ต้องนำต้นหมากผู้ไปปลูกไว้ใกล้ ๆ ด้วย  ประโยชน์คือ เป็นไม้ร่มเงา และเป็นที่สังเกตของคนสวนที่รับจ้างถางหญ้า คนลับแลจะใช้วิธีนี้เป็นที่สังเกต มีเจ้าของสวนบางรายจ้างคนต่างถิ่นต่างอำเภอไปถางสวน ซึ่งเขาไม่รู้จุดสังเกตนี้ เลยถางกล้าพันธุ์ที่ปลูกใหม่หมดทั้งสวน พอเจ้าของไปเห็น ลมใส่เลย  ด้วยเหตุนี้เจ้าของสวนส่วนใหญ่มักจะมีคนงานที่เคยจ้างถางประจำ เพราะเขารู้จุดสังเกตและจำได้ว่ากล้าพันธุ์ใหม่ปลูกตรงไหน ระยะไหน เลยทำให้คนต่างถิ่นที่เข้าไปรับจ้างถางสวนตกงาน
มะยงชิด พันธูทูลเกล้า
สวนที่ผมดำเนินปลูกเมื่อปี 2549  ผมใช้กล้าพันธุ์ที่ร้านขายในจังหวัดต่าง ๆ มาปลูก เพราะถ้าหากใช้กล้าพื้นมืองลงก่อน แล้วต่อยอดพันธุ์ภายหลังคิดว่าจะช้าไป พอปลูกติดดีแล้วผมก็ใช้เมล็ด หรือกล้าพื้นเมืองเสริมราก โดยนำไปปลูกหรือนำเมล็ดไปวางไว้ใกล้ ๆ ต้นที่ปลูก พอต้นโตเต็มที่เมล็ดพื้นเมืองที่เสริมโตพอสมควรแล้วก็โน้มต่อให้เป็นต้นเดียวกัน เรียกว่า 1 ต้นหลายราก ทำอย่างนี้เกือบทุกต้น ทำให้โตเร็วและอัตราการรอดตายแล้งสูงครับ

 ผลผลิตปีนี้ 2555
นี่คือผลไม้หลักของชาวลับแล แต่เชื่อไหม อำเภอลับแล มีผลไม้ทุกชนิดที่ปลูกในพื้น บางครั้งถ้าท่านไปเที่ยวลับแลเห็นมังคุด สะละ มะปราง มะม่วง มะไฟ มะขามเปรี้ยว มะขามหวาน มะนาว ชมพู่ วางขาย ไม่ต้องแปลกใจว่ารับมาจากไหน เป็นผลผลิตที่เกิดในพื้นที่ทั้งหมด ราคาก็ถูกกว่าที่อื่น ๆ  รู้อย่างนี้แล้วไม่ลองแวะไปเยี่ยมเมืองลับแล อุตรดิตถ์ สักครั้งเชียวหรือ....ชาวลับแลยินดีต้อนรับ..........(ภาพประกอบเรื่องราวเป็นผลผลิตของสวนหัวยผึ้ง...จันทร์ผา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น&สอบถามมาได้นะครับ