เรื่องนี้...HOT จริงๆ

วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แมลงศัตรูทุเรียนที่ชาวสวนต้องระวัง...

หลังจากเก็บผลทุเรียนเสร็จเรียบร้อย ระหว่างรอเก็บผลผลิตลองกอง ชาวสวนก็มีการตกแต่งต้นทุเรียน  จะเป็นการตัดแต่งกิ่งแห้งหรือกิ่งแขนงออก และทำความสะอาดบริเวณรอบต้นเพื่อป้องกันโรคเชื้อราและแมลงพวกปลวก มดที่มารบกวนต้นทุเรียน  
ต้นทุเรียนช่วงนี้จะสมบูรณ์
ช่วงนี้ทุเรียนไม่ว่าจะเป็นพันธุ์หมอนทอง หลงลับแล หรือหลินลับแล จะเจริญเติบโตสมบูรณ์มาก จะแตกยอดอ่อน ใบจะเขียวเข้ม ชาวสวนต้องสังเกตว่ามีศัตรูแมลงมากัดกินหรือไม่ รวมถึงสังเกตรอบต้นว่ามีน้ำไหลเยิ้มออกมาหรือไม่ หรือมีขุยของเปลือกที่หนอนกัดกินแล้วถ่ายเทออกมาทางรูที่เจาะเข้าไปตามลำต้นหรือกิ่งทุเรียน ขุยนี้จะตกลงค้างตามง่ามกิ่งหรือที่ใบของทุเรียน ถ้ามีเป็นอันแน่นอนว่าต้นโดนนอนเจาะลำต้นเล่นงานเข้าแล้ว
มีขุยร่วงค้างบนใบ แสดงว่าบนต้นถูกหนอนเจาะทำลาย
 มีน้ำเยิ้มออกจากลำต้น แสดงว่ามีการเจาะทำลาย
ถ้าหนอนเจาะเข้าไปน้อยไม่ลุกลามมากนักผมใช้ยาฆ่าแมลงชนิดสเปรย์ฉีดเข้าไปในรู   แต่ถ้าเข้าไปมากมีการเจาะทำลายมาก รูที่เจาะมีน้ำไหลเยิ้ม หรือมีขุยค้างอยู่ปากรู ผมจะใช้ใบมีดคม ๆ เซาะตามรอยการทำลายของนอนจนพบตัว  ระหว่างที่เซาะตามหนอนนี้ก็จะพบเห็นนอนตัวเล็ก ๆ อีกจำนวนมาก แต่ตัวที่ทำลายตัวจะโตเกือบเท่าตะเกียบ ความยาวก็ประมาณ 1 – 1.5 ซม.เลยละครับ
ต้นนี้ถูกทำลายค่อนข้างจะมาก
แผลที่ทุกทำลายผมก็จะใช้ยาฆ่าแมลงชนิดผงผสมน้ำ ใช้แปลงป้ายเพื่อทำลายหนอนตัวเล็ก ความจริงด้วงที่มาปล่อยไข่ที่ต้นทุเรียนจะระบาดช่วงทุเรียนออกดอก แต่ที่สังเกตการเกิดในสวนปีนี้มักจะเป็นกับต้นที่เคยเกิดการระบาด ซึ่งนั่นก็หมายความว่าไข่ที่ตัวแม่ไข่เกิดการเจริญเติบโตในช่วงทุเรียนกำลังเก็บผล
ลักษณะตัวด้วงเมื่อวางไข่แล้วโตเป็นตัวหนอนเจาะทำลายต้นทุเรียน
ที่มาของภาพ(http://plantpro.doae.go.th/forecast/month/0947/durian.htm)
ผมเคยใช้ข่ายดักปลาขึ้งเพื่อดักด้วงตัวแม่ แต่ก็ติดน้อยมาก คงต้องใช้วิธีสังเกตต้นว่าถูกทำลายหรือยัง และคอยใช้ยาฆ่าแมลงพ่นบ้างเมื่อพบการเกิดการทำลาย หรือถ้าพอมีเวลาผมก็จะก่อไฟในร่องห้วยโดยนำเอาสะเดา ตะไคร้หอม ต้นข่าวางลงไปบนไม้ฟืนแล้วจุดไฟให้ควัน เพื่อไล่แมลง นี่เป็นการป้องกันของผมนะครับ ส่วนที่อื่นมีวิธีที่ดี ๆ ก็บอกชาวสวนมือใหม่อย่างผมบ้างนะครับ....ฉะนั้นระยะนี้ถ้าชาวสวนมัวเพลินกับการปลูกซ่อมแซม บางสวนก็ระดมตัดหญ้าเป็นการใหญ่  บางสวนยังไม่แต่งกิ่ง ตัดกิ่งแซม ก็เลยไม่ได้สังเกตต้นทุเรียน กว่าจะรู้ก็คงเหมือนสวนผมนี่แหละ โดนเล่นงานไปหลายต้นครับ...
ขอขอบคุณ ข้อมูลภาพจาก http://plantpro.doae.go.th/forecast/month/0947/durian.htm

วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การเปลี่ยนยอดทุเรียนเป็นหลงลับแล หลินลับแล

ระยะนี้ชาวสวนลับแลเริ่มตัดหญ้าในสวนเป็นส่วนใหญ่ สวนที่บุกเบิกใหม่ก็ทำการปลูกส่วนมากชาวสวนจะใช้กล้าทุเรียนพื้นเมืองปลูกก่อน เมื่อกล้าโตพอประมาณก็จะทำการเปลี่ยนยอดเป็นหมอนทอง หลงลับแล หลินลับแล  หรือบางสวนก็ตัดต้นทุเรียนหมอนทองต้นใหญ่ ๆ รอให้แตกกิ่งแขนงแล้วก็ทำการเปลี่ยนยอด 
ตัดหญ้าเสร็จเรียบร้อย
ช่วงนี้ต้นทุเรียนเมื่อตัดผลแล้วตรงขั้วผลก็จะเกิดกิ่งแขนงแตกออกมาหลายกิ่ง ชาวสวนก็ต้องทำการตัดกิ่งแขนงออก แต่จะยังไม่ตัดในช่วงนี้ รอให้เก็บลองกองใกล้หมดจึงจะตัดออก สาเหตุเพราะถ้าตัดกิ่งแขนงช่วงนี้ กิ่งก็จะแตกยอดออกมาใหม่ แต่ที่สวนห้วยผึ้งจันทน์ผา จะทำการตัดไปเลยถ้ามีเวลา เพราะตอนนี้หาคนช่วยยาก น้องที่ช่วยอยู่ก็ไม่ค่อยว่าง ต้องดำนา พอปลายเดือนกรกฎาคม ก็จะเริ่มตัดลองกอง และไปรับจ้างตัดลองกองที่สวนอื่นบ้าง จะไม่มีเวลามาช่วย
 
ทุเรียนที่ตัดผลออกแล้วจะมีกิ่งแขนงเกิดขึ้นตรงขั้วผลที่ตัดออก
ถ้าน้องที่ช่วยพอมีเวลาก็จะให้ขุดหลุม  ผมจะเป็นคนปลูกซ่อมแซม หรือปลูกเพิ่มเติม  และก็จะทำการเปลี่ยนยอดต้นพื้นเมืองเป็นหลงลับแล และหลินลับแล หมอนทองก็พอมีบ้าง หรือถ้าตรงไหนดูแล้วระยะห่างก็ใช้กล้าปลูกแซมไปเลย  ส่วนการเปลี่ยนยอดที่สวนฯ จะทำโดยการทาบต้น หรือปลูกคู่กันแล้วรอให้โตแล้วจึงโน้มมาทาบกัน ส่วนวิธีเสียบยอดที่เอายอดหลงลับแล หรือหลินลับแล มาเสียบกับยอดพื้นเมืองหรือยอดหมอนทางผมไม่ชำนาญ เคยทำแล้วไม่ค่อยได้ผล ได้ผลดีจำพวกมะปราง และมะนาว ส่วนทุเรียนผมจึงใช้วิธีที่ง่าย ๆ และค่อนข้างจะได้ผลแน่นอน
ปลูกกล้าหลงลับแล

ปลูกหลงคู่กับพื้นเมือง พอโตอีกสักนิดก็จะโน้มมาทาบกัน
ใช้กล้าหลงทาบกับต้นตอพื้นเมือง
วิธีทาบโดยใช้กล้าหลง หลิน ไปทาบกับต้นพื้นเมืองผมจะใช้ไม้ไผ่ตอกสำหรับค้ำถุงกล้า ใช้เชือกฟางมัดไม่ให้ถุงเคลื่อนไหว แล้วจึงโน้มยอดเข้าไปทาบกับต้นพื้นเมือง ข้อสำคัญต้องหมั่นตรวจดูความชื้นของดินในถุงกล้าพันธุ์เป็นประจำถ้าดินแห้งก็เติมน้ำพอประมาณพอให้ดินชื้น อย่าใส่จนน้ำขัง ถ้าฝนตกหนักก็เจาะข้างถุงสูงจากก้นถุงประมาณครึ่งหนึ่งของถุง เพื่อระบายน้ำออกบ้าง
ต้นนี้ทาบติดแล้วตัดรากออก ทำมาแล้ว 2  ปี
วิธีที่ผมทาบนี้จะได้ผลมากกว่าวิธีอื่น จากประสบการณ์ของผมนะครับ พืชบางอย่างก็ใช้วิธีต่อยอดได้ แต่บางอย่างก็ใช้ไม่ค่อยได้ผล บางคนต่อยอดมะปรางไม่ค่อยได้ผลแต่ผมต่อได้ผลดี  บางคนตอนมะเฟืองแตกรากง่าย แต่ผมตอนไม่ออกราก ผมเอายอดมะนาวต่อกับต้นส้มโอก็ติดดีให้ผลแล้วด้วย  มะม่วงก็ต่อยอดติดทุกสายพันธุ์ ........เรียกว่าประสบการณ์ยิ่งมาก ก็ยิ่งจะชำนาญมากขึ้นนั่นเองครับ....
 
หมอนทองส่งนอก..ที่ตลาดผลไม้หัวดง

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ชาวสวนเพชรบูรณ์ เยี่ยมชมสวนห้วยผึ้งจันทน์ผา

ช่วงนี้ชาวสวนลับแลหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ระหว่างรอผลผลิตของลองกองสุก ก็จะทำการถางหญ้าในสวน ซึ่งตอนนี้จะเห็นคนที่รับจ้างถางสวนจะไม่ค่อยว่างกัน แต่ที่สวนห้วยผึ้งฯ จะมีน้องคอยช่วยอยู่ ซึ่งก็ว่ากันประจำตลอดมา
มองขึ้นไปบนเนินเขา
พอดีได้ทำการถางหญ้าเสร็จ ก็มีโอกาสต้อนรับน้องชาวสวนจากเพชรบูรณ์ มาดูการทำสวน ไม่ว่าจะระยะการปลูก การขุดหลุมปลูก การแกะถุงหุ้มออกจากรากต้นกล้า การต่อกิ่ง การต่อราก การทาบกิ่ง การตอนมะละกอ การเก็บยอดพันธุ์สำหรับเตรียมต่อกิ่ง ก็ได้เรียนรู้ไปพอสมควร
ถ่ายภาพกับเจ้าของฯ
จากนั้นก็พาเดินชมทุเรียน ดูว่าต้นไหนเป็นหมอน ต้นไหนเป็นหลง ต้นไหนเป็นหลิน ปรากฏว่าดูแล้วแยกไม่ออก พาไปบนสวน แต่ไม่ได้ไปถึงจุดสูงสุด  มีคำถามว่าถ้าปลูกหลงใกล้กับหมอนทองจะกลายพันธุ์หรือไม่ ผลก็คือพาไปดูต้นหลังบ้านซึ่งมีหมอนปลูกติดกับหลงอยู่  ก็ได้ถ่ายภาพกับต้นหลงลับแลต้นหลังบ้าน
ต้นหลงลับแลหลังบ้าน
เดินดูช่อลองกอง
จุดสูงสุดของสวนต้องเดินขึ้นไปอีกครึ่งหนึ่งที่มาถึง คุณจำเนียรเจ้าของสวนเคยขึ้นไปเมื่อ 2 วันก่อน แต่มีลูกน้องติดตามไป 2 ตัว ให้นั่งรถเข็นไปครึ่งทาง พอขึ้นต่อไปต้องอุ้มตัวเล็ก  ขาลงปล่อยให้เดินลงเอง
นั่งรถเข็นไปได้ครึ่งทาง
เจ้าของบ้านหมดแรงเห็นบ้านอยู่ข้างล่างลิบ..จะลงไหวไหมหนอ..
น้องๆ ได้ซื้อกล้าพันธุ์หลงลับแล หมอนทอง มะนาว กระท้อน ลองกอง มะไฟ และผมยังได้ฝากยอดแก้วมังกร กิ่งตอนมะละกอ กล้าต้นจันทน์ผา หน่อกล้วยหอมเขียว หน่อกล้วยน้ำว้าพันธุ์ (ทุกอย่างที่ฝากให้ฟรี) ให้ไปปลูกที่เพชรบูรณ์ด้วย ต้องขอบคุณที่ให้เกียรติมาเยี่ยมชมสวนห้วยผึ้งจันทร์ผา โอกาสหน้าลองกองสุกมาทานลองกองอีกนะครับ ขอให้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพครับ...
                                                             กล้วยหอมเขียว                                               กล้วยน้ำว้าพันธุ์

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เปลี่ยนศาลาหญ้าคาเป็นค้างพีชสวนครัว

หัวข้อวันนี้แปลก ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการทำสวน แต่อยากให้แฟน ๆ Blog ติดตามครับ ขอบอกว่าวันนี้เป็นการรีไซเคิลของที่ใช้แล้วและคิดว่าจะทิ้งแต่ก็นำมาทำประโยชน์ได้จริง ๆ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับพืชผักสวนครัวด้วยครับ  ก่อนอื่นท่านที่ติดตามBlogคงยังจำกันได้ตอนที่นำเสนอภาพสวนห้วยผึ้งจันทร์ผาใหม่ ๆ ท่านจะเห็นภาพซุ้มหญ้าคาที่มีแขกหลายท่านได้ไปนั่งพักผ่อน ตอนนี้หมดอายุแล้วครับ หลังคาที่ทำด้วยหญ้าคาผุ ไม้โครงสร้างบางตัวหัก ต้องเอาผ้าพลาสติกขึ้นไปคลุมอีกชั้นหนึ่ง

เคยได้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนหลายปี
เมื่อหมดอายุ ผมก็ได้สร้างศาลาทดแทนขึ้นมาหลังหนึ่งทำด้วยเสาปูนหลังคากระเบื้อง ที่เรียกว่าศาลาก้อนเส้าเตาไฟ
ศาลาก้อนเส้าเตาไฟ
ส่วนโครงสร้างของศาลาหญ้าคาเมื่อเอาหญ้าคาออก ผมได้นำไปวางไว้ตรงข้ามใกล้ๆ  แล้วผมก็นำพืชสวนครัว โดยซื้อเมล็ดพันธุ์จากร้านจำหน่ายเคมีภัณฑ์เกษตร ก็มีถั่วฝักยาว บวบ มาปลูก ให้ขึ้นกับโครงสร้างเดิม ด้านหลังโรงเรือนนี้ผมปลูกพริกขี้หนู มะละกอ และมะเขือเทศ มะเขือเปราะ เรียกว่าพร้อมสำหรับการทำส้มตำเลยทีเดีว
ซุ้มถั่วฝักยาว บวบเหลี่ยม
ถั่วฝักยาวให้ผลดีมาก
พริกขี้หนูสุกแดงเต็มต้น
มะละกอ มะเขือเทศ มะเขือเปราะ อยู่ใกล้ ๆ
ยังคงใช้เป็นที่นั่งเล่น
ตอนนี้แม่บ้านชักจะติดใจ เพราะได้ผลจากถั่วฝักยาว และบวบ ไม่ว่าจะเป็นผัดถั่วฝักยาว แกงเรียง หรือจะเป็นส้มตำมะละกอซึ่งเป็นเรื่องหลักอยู่แล้ว เลยคิดว่าถ้าโครงสร้างนี้ยังไม่ผุพังก็สามารถทำประโยชน์ได้ แม่บ้านก็เลยอยากจะให้หาที่ทำถาวร สำหรับนั่งพักผ่อนได้ และยังได้ประโยชน์จากผลผลิตพืชผักสวนครัวธรรมชาติได้อีกด้วย  จากข้อคิดนี้ก็เลยขอนำเสนอว่าถ้าท่านอยากมีที่นั่งเล่นที่จะทำให้เป็นแบบธรรมชาติไม่เหมือนใคร ก็ลองนำความคิดนี้ไปประยุกต์ใช้นะครับ ไม่ต้องเสียเงินทองซื้อพืชผัก ที่เราใช้ประจำวัน และยังดูแปลกตาไม่ซ้ำใครอีกด้วย...

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิธีขยายพันธุ์ จันทร์ผา

จันทร์ผา  เป็นไม้ให้ทรงพุ่ม ใบจะสีเขียวตลอดทุกฤดู  ไม่ผลัดใบ เมื่อปลูกต้นสูงประมาณ 1 เมตรขึ้นไป ก็จะแตกกิ่งตามลำต้นแม่ ทำให้ทรงพุ่มดูหนาทึบมากขึ้น ส่วนใหญ่นักเล่นจันทร์ผา จะไม่ตัดกิ่งออก จะคอยดูรูปทรง พอแตกกิ่งมาก ๆ ก็จะเลือกเอากิ่งที่ไม่ต้องการออก กิ่งที่เอาออกนั้นก็จะนำไปเพาะชำต่อไป
ต้นแรกที่นำมาปลูกที่สวนปลูกในวงซีเมนต์
จันทร์ผา ปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ทนแล้งได้ดี แต่ไม่ทนน้ำท่วมขัง ฉะนั้นถ้าท่านปลูก ก็ควรปลูกยกสูงจากพื้น เช่นจะใส่วงซีเมนต์ หรือใส่ยางรถยนต์เก่าวางซ้อนกัน 2 วงก็ได้ จันทร์ผาเป็นไม้ที่ไม่ต้องการดูแลมาก ถ้าท่านปลูกแล้วคอยรดน้ำเช้าเย็น รับรองเน่าตายก่อนแน่ ๆ

ต้นกล้าที่เพาะด้วยเมล็ด
จันทร์ผา พันธุ์ส่วนใหญ่ได้มากจากการตัดแต่งกิ่ง หรือมีบางท่านก็เพาะเมล็ด วิธีเพาะเมล็ดก็ไม่ยากเมื่อจันทร์ผาออกช่อดอกและเริ่มมีเมล็ดสุก ท่านก็เก็บเอาเมล็ดที่สุกนั้นแช่น้ำ ใช้ฝ่ามือขยี้เพื่อเอาเปลือกออกให้เหลือแต่เมล็ดใน สีจะขาว ๆ เหมือนตาปลาทู ผึ่งไว้ให้แห้งแล้วเตรียมภาชนะเพาะนำดินเพาะใส่ แล้วจัดวางเมล็ดจันทร์ผาลงในหลุมเพาะ รดน้ำสัก 2 – 3 วันครั้ง รอให้งอกเมื่อโตพอประมาณก็แยกลงถุง ดูแลให้โตพอเหมาะแล้วจึงนำไปปลูก
                                                                                                     ดอกจันทน์ผา  
อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมกัน ก็คือการตัดกิ่งชำ วิธีนี้ท่านต้องเตรียมกิ่งที่จะตัดชำ เตรียมดินที่เป็นดินร่วนปนทรายระบายน้ำได้ดี ไม่เช่นนั้นจะเน่าก่อนแตกราก  เมื่อมีรากก็แยกลงถุง ดูแลให้โตพอเหมาะแล้วจึงนำไปปลูกตามที่ ๆ ต้องการ
กิ่งที่ตัดพร้อมจะนำไปชำ
ที่สวนจันทร์ผา ห้วยผึ้ง ปลูกไว้ตลอดทางขึ้นสวน ตอนนี้ก็ยังมีกล้าที่เพาะเมล็ดไว้ มีหลายท่านขึ้นไปเที่ยวสวนก็ขอไปปลูกที่บ้าน  ขอบอกก่อนนะครับ การปลูกจันทร์ผาต้องใจเย็น ๆ เพราะเป็นไม้โตช้า แต่ใบจะให้สีเขียวตลอดทั้งปี  ถ้าปลูกแล้วคอยดูแลไม่ให้เถาวัลย์ขึ้นไปพัน หรือแมลงบางอย่างเจาะต้น  รับรองต้นโตวัน โตคืน ถ้าจะให้โตเร็วก็เลาะใบล่างเหลือไว้เฉพาะยอด แต่อย่าเอาใบออกจนถึงยอดอ่อนนะครับ วิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ต้นจันทร์ผาโตเร็ว และแตกกิ่งมาก
ตลอดทางขึ้นสวนจะปลูกไว้เป็นระยะ ๆ
ต้นนี้ปลูกใกล้กอกล้วยเลยสูงแข่งกับต้นกล้วย
ทรงพุ่มขนาดนี้เกือบทั้งสวน
ลองปลูกดูนะครับ พันธุ์ก็หาไม่ยาก ท่านจะขอกิ่งจากบ้านเพื่อน หรือขอต้นที่เขาเพาะพันธุ์ไว้  แต่ถ้าใจร้อนก็ไปที่ร้านขายพันธุ์ไม้ มีบริการหลายขนาด หลายราคา ให้ท่านได้ทดลองปลูกไว้ในบ้าน พอถึงฤดูร้อนสีเขียวของใบจะให้ความร่มรื่น ร่มเย็น ทำให้ได้บรรยากาศเย็นสบายครับ............ 

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปลูกทุเรียน ซ่อมแซม ที่สวนลับแล

หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนของชาวสวน  บางสวนใกล้จะหมด และช่วงนี้มีฝนตกมาสม่ำเสมอชาวสวนก็เริ่มนำกล้าทุเรียนเข้าไปปลูกเสริม หรือซ่อมแซมต้นที่ตายส่วนใหญ่ก็จะเริ่มซ่อมแซมในช่วงนี้  กล้าทุเรียนที่ใช้ปลูกซ่อมแซมก็เป็นกล้าพื้นเมืองธรรมดา อายุก็ประมาณ 1 – 2 ปีขึ้นไป ที่จะปลูกถ้าอยู่บนดอยสูง ๆ การขนส่งลำบากก็จะใช้ต้นกล้าขนาดเล็กหน่อย แต่ถ้าเป็นพื้นราบ หรือเนินเตี้ย ๆ ก็จะใช้ต้นกล้าขนาดใหญ่ ซึ่งมีชาวสวนเพาะชำขายมีหลายขนาด หลายราคา
ภาพที่มองจากหน้าบ้านบนเนินข้างล่างขึ้นไปบนเขา
จะต้องไปให้ถึงตรงจุดเข้ม ๆ ที่มียอดกล้วยเล็ก ๆ
ที่สวนห้วยผึ้งจันทน์ผา ผมก็ต้องมีการปลูกซ่อมแซมเหมือนกัน  จากภาพที่เห็นเป็นเนินเขาค่อนข้างสูง ต้องนำกล้าไปที่บ้านกลางสวนก่อน แล้วจึงทยอยหาบต่อไปบนเนินที่สูง การลำเลียงขึ้นไปก็ได้ไม่มาก เที่ยวละ 4 กล้าก็หนักหนาสาหัสแล้ว  
ทั้งใช้รถเข็น ทั้งหาบกล้าจากบ้านบนเนิน ไปถึงบ้านกลางสวน
จากบ้านกลางสวนขึ้นเนินดอย (ถึงครึ่งทางต่อไปนี้รถเข็นขึ้นไปไม่ได้ต้องหาบขึ้นไป)
การลำเลียงกล้าทุเรียนขึ้นไปชาวสวนส่วนใหญ่คนที่ขี่รถมอเตอร์ไซด์เก่ง ๆ เขาใช้รถที่ดัดแปลงขนผลไม้นั่นแหละครับบรรทุกล้าขึ้นไป แต่ผมขี่รถมอเตอร์ไซด์ไม่เก่งก็เลยต้องลำเลียงแบบโบราณนี่แหละครับ  เมื่อไปถึงก็ปลูกเหมือนที่เคยปลูกพื้นราบ แต่ต้องดูว่าไม่อยู่ที่เสี่ยงที่ดินจะพังลงมาถ้าฝนตกหนัก  เมื่อเลือกได้เหมาะก็ทำการปลูก
ถึงหญ้าจะรกไปนิดก็ไม่เป็นไร พอคนงานถางหญ้าเราก็ทำเครื่องหมายให้รู้
มีบางคนถามผมว่าทำไมต้องปลูกเอง ไม่จ้างคนงาน ผมบอกว่าผมปลูกเองเวลากล้าตายจะได้ไม่ต้องโทษคนงาน และตอนนี้คนงานก็หายากที่พึ่งพากันประจำก็ป่วย  ผมก็เลยทำการปลูกเอง ปลูกไปหลายต้นเหมือนกัน กว่าจะเสร็จก็เล่นเอาเกือบลมใส่ พอมองลงมาข้างล่าง โอ้โฮ...เราเอาต้นกล้าทุเรียนขึ้นมาได้ยังไงนี่...
เห็นหลังคาบ้านบนเนิน และทุ่งนาทางเข้าสวนลิบ ๆ
มองลงไปที่บ้านกลางสวนมองไม่เห็นหลังคา
ส่วนใหญ่ที่แฟน ๆ Blog ที่ไปเที่ยวสวน ก็จะพาไปแค่ที่บ้านกลางสวน หรือไม่ก็เนินแรกของบ้านบนเนินเท่านั้น ต่อไปถ้าท่านจะไปถึงจุดสูงสุดของสวนก็ให้เตรียมกำลังให้ดี ๆ จะพาขึ้นไป การเดินขึ้นไม่ลำบากมีทางเดินตลอด แต่เขาจะขุดทางวกไป วนมา เพื่อลดการลาดชันเวลาเดินขึ้นจะไม่รู้สึกว่าสูงมาก แต่ผมส่วนใหญ่เดินลัดตรงเลยถึงจะชันแต่ก็ใกล้กว่าเดินตามทางครับ...นี่แหละครับชีวิตชาวสวน ที่สวนห้วยผึ้ง จันทน์ผา ความสูงถือว่าเด็ก ๆ สวนส่วนใหญ่ที่อยู่ในภูเขาลึก ๆ ทั้งไกล ทั้งชันมากกว่านี้หลายเท่าครับ....

วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน..

ทุกคนคงไม่ปฏิเสธว่า สถานที่ทำงานเป็นบ้านแห่งที่ 2 ของเจ้าหน้าที่ในองค์กร เพราะทุกวันเราจะอยู่ที่ทำงานไม่น้อยกว่า ๙ ชั่วโมง เท่า ๆ กับอยู่บ้าน นับเฉพาะเวลาตื่นนะครับ จะเห็นว่าความสำคัญของที่ทำงานนั้นมีไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับในการใช้ชีวิตประจำวัน  ที่ทำงานบางคนเป็นสำนักงาน  บางคนเป็นรถยนต์ เครื่องบิน เรือ สถานบริการ โรงเรียน หรือโรงพยาบาล ผมได้มีโอกาสเป็นคณะกรรมการประเมินผล “สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน” ของหน่วยงานในจังหวัดอุตรดิตถ์ รู้สึกประทับใจ อยากนำมาเล่าให้ท่านได้รับทราบกันว่า สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน ต้องเป็นอย่างนี้  ก่อนอื่นขอเรียนว่าหลักเกณฑ์การประเมินจะใช้ 4 หัวข้อในการประเมิน คือ 1.สะอาด 2.ปลอดภัย 3.สิ่งแวดล้อมดี 4.มีชีวิตชีวา เกณฑ์ในแต่ละหัวข้อของสำนักสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็จะแยกย่อย ๆ ออกไปอีกหลายหัวข้อครับ คณะกรรมการประเมิน ทางจังหวัดก็จะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานออกทำการประเมิน ไม่ใช่ประกวดนะครับ ทุกหน่วยงานต้องแข่งกับตนเองเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ ถ้าผ่านระดับพื้นฐาน ระดับดี  ระดับดีมาก ถึงระดับดีเด่น ทางกรมอนามัยก็จะมอบโล่เป็นเกียรติให้แก่หน่วยงานนั้น ทุกหน่วยงานต้องผ่านเกณฑ์ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน จนถึงระดับดีเด่น ใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ไม่ง่ายเลยนะครับ องค์กรต้องมีนโยบาลชัดเจน และเอาจริงเอาจังกับกิจกรรมนี้อย่างมาก ที่ผมจะนำเสนอนี้ เป็นบางส่วนของหน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมิน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งเล็ก ทั้งใหญ่ ขอนำเสนอภาพรวมตั้งแต่ สะอาด  ปลอดภัย  สิ่งแวดล้อมดี  มีชีวิตชีวา   
ขอเรียนว่าข้อมูลที่นำเสนอ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมของหน่วยงาน ยังไม่ได้เสนอโครงการเด่น ๆ ที่ตอบสนองที่ทำให้โครงการสำเร็จ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ทำการของสำนักงานที่รับการประเมินโดยตรงนะครับ
วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์ สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน (สะอาด ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมดี มีชีวิตชีวา)
น้ำอัญชัญ ของว่าง ต้อนรับผู้มาเยือน
และมีบริการจัดประชุมทุกหน่วยงานเพื่อฝึกทักษะนักศึกษา ราคาถูก


       อาคารเรียน                                                      หน้าห้องสมุด 
                           

                                                 สิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป                                        มุมพักผ่อนนักศึกษา           

                                                                       ห้องสุขาวิทยาลัยฯ  มุมพักผ่อนประชาชนที่มาเล่นกีฬา
โรงพยาบาลค่ายพระยาพิชัยดาบหัก  สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน (สะอาด ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมดี มีชีวิตชีวา)

                                                          หน้าตึกอำนวยการ                                     สิ่งแวดล้อมทั้วไป       
    
                                                             หน้าห้องสุขา                                               อ่างล้างหน้าห้องน้ำหญิง          
   

ผู้บริหาร รพ.ฯ/ทีมประเมิน
                                                     
สำนักงานขนส่งจังหวัดอุตรดิตถ์  สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน (สะอาด ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมดี มีชีวิตชีวา)
 
                         ตึกอำนวยการ                              มุมพักผ่อนผู้มาติดต่อ      
                      ห้องสุขาบริการประชาชน สะอาดทั้งกลิ่นและพื้น มีสุขภัณฑ์เพียบพร้อม  มีเสียงเพลงคลอเบาๆ           

                                                         มุมพักผ่อนผู้รอสอบใบขับขี่                         บริการอินเตอร์เนตฟรี

 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์  สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน (สะอาด ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมดี มีชีวิตชีวา)

                                                                  อาคารบริการ                                     สิ่งแวดล้อมทั่วไป           

                                                                                      ลานบริการออกกำลังกาย
การบริการประชาชนในยุคนี้ต้องบริการด้วยใจ ต้องพร้อมด้วยสถานที่ บรรยากาศที่น่าเข้ารับบริการ รวมถึงความพร้อมของเจ้าหน้าที่ โครงการสถานที่ทำงานน่าอยู่น่าทำงาน นอกจากจะทำให้เจ้าหน้าที่องค์กรตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อหน้าทีแล้วยังตระหนักถึงการมีส่วนร่วมพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานที่น่าทำงาน   ประชาชนที่มาติดต่อก็พลอยได้รับบริการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศการบริการ และยังมีสภาพแวดล้อมที่น่าพักผ่อน ก็จะเป็นการดีมิใช่หรือ ดีกว่าที่จะเจอกับสภาพ หน้างอ รอนาน บริการช้า สิ่งแวดล้อมน่าเบื่อ ......