เรื่องนี้...HOT จริงๆ

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

มะม่วง ผลไม้ที่ปลูกได้ผลดีที่..ลับแล

มะม่วง ผลไม้ที่ปลูกได้ผลดีที่..ลับแล
                สภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่อำเภอลับแล ส่วยใหญ่เป็นภูเขา  ด้านเหนือของอำเภอตั้งแต่ตำบลฝายหลวง ขึ้นไป มีภูเขาสลับซับซ้อนจนถึงอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่  ส่วนทางด้านตะวันตกก็เป็นภูเขาจนถึงอำเภอศรีสัชชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จะมีที่ราบเชิงเขาอยู่บ้างก็เป็นพื้นที่อยู่อาศัย และปลูกพืชพื้นราบ ในจำนวนพืชที่ปลูกนี้ก็มีมะม่วง  สามารถปลูกได้ทุกสายพันธุ์ เจริญเติบโตได้ผลดีที่...ลับแล 

ต้นนี้ตอเดิมเป็นน้ำดอกไม้ เอายอดพันธุ์อื่นมาต่อยอดประมาณ 4 ชนิด
                ที่สวนห้วยผึ้ง จันผา ก็ปลูกมะม่วงบ้างเหมือนกัน เลือกปลูก สายพันธุ์งามเมืองย่า และเขียวใหญ่  กิ่งพันธุ์บางส่วนซื้อมาจากร้านจำหน่ายพันธุ์ต้นไม้ในจังหวัดอุตรดิตถ์ และมีบางส่วนน้องที่สำนักงานที่ทำงานอยู่ร่วมกันเอามาฝาก ผมก็แทนทุนให้น้องไปตามสมควร  ปลูกมา  4  ปี ตอนนี้ให้ผลแล้ว และถือว่าได้ผลดีทีเดียว ซึ่งมะม่วงพันธุ์งามเมืองย่า แต่ละผลน้ำหนักตั้งแต่ 7 ขีด ถึง 1 กิโลกรัมเศษ
มะม่วงงามเมืองย่า แขวนแผ่น cd ไล่แมลง

                การปลูก ผมก็นำกิ่งพันธุ์ปลูกในพื้นที่ใกล้ ๆ บ้านพัก เพราะปกติมะม่วงจะมีแมลงรบกวนมาก แต่สำหรับพันธุ์งามเมืองย่า ถือว่ามีแมลงรบกวนน้อยมาก ผิดกับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ทั้งใบ ทั้งผล แมลงกวนมากเหลือเกิน ผมจึงจัดการเปลี่ยนยอดบางกิ่งเป็น งามเมืองย่า  บางกิ่งเป็น อาร์ทูอีทู  บางกิ่งก็ต่อด้วยน้ำดอกไม่สีทองเบอร์ 4  ในสวนที่ให้ผลตอนนี้คืองามเมืองย่า กับ เขียวใหญ่ ให้ผลมา 2 ปีแล้ว
เก็บผลส่งตลาด
                ฉะนั้นท่านที่พอมีที่อยู่บ้างหน้าบ้าน หรือหลังบ้าน ก็ลองปลูกมะม่วง 2 สายพันธุ์นี้ดูนะครับ ผมลองปลูกในวงบ่อซีเมนต์ปลูกไว้หน้าบ้านที่ตลาดหัวดง  ก็ให้ผลดีเหมือนกัน
งามเมืองย่า ปลูกในวงซีเมนต์  ให้ผลโตเกือบกิโล
ตอนนี้ต้นดังกล่าวย้ายไปไว้ที่สวนแล้ว และให้ผลดีมาก ลูกโตมากผลย้อยติดดิน
 ใบที่เห็นเป็นต้นมะเดื่อที่ขึ้นใต้ต้นมะม่วงนะครับ
                       การขยายพันธุ์  จะใช้เมล็ดเพาะ หรือใช้กิ่งตอนก็ได้ หรือจะใช้วิธีอย่างผมทำก็จะให้ผลเร็วดีขึ้น คือผมจะเปิดแผลกิ่งตอน แล้วเหนือกิ่งแผลประมาณ 2 เซนติเมตร ผมจะเอารากมะม่วงแก้ว หรือมะม่วงอื่นๆ ที่ทำเป็นตอพันธุ์มาเสียบ (เหมือนเสียบยอดทาบกิ่ง) แล้วพันรากให้แนบสนิทกับกลิ่งที่จะตอน แล้วจึงนำดินมาหุ้มแผลกิ่งที่จะตอน ดินก็จะทับบนรากที่เรานำมาเสียบเสริม ถ้ารากที่ทาบเดิน ก็ตัดกิ่งมาชำได้ ไม่ต้องรอให้รากที่แผลตอนเดิน จะได้กิ่งที่โตกว่า การทาบต้น                         
              ที่อำเภอลับแล ถือว่าปลูกมะม่วงน้อยมาก ไม่นิยมปลูกเป็นการค้า ปลูกไว้สำหรับรับประทานภายในบ้าน ที่เหลือก็ขายให้แก่คนในพื้นที่  ถ้าท่านไปที่ตลาดผลไม้หัวดง ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล หรือที่ตลาดเทศบาลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล มักจะไม่เห็นมะม่วงของชาวสวน มาวางจำหน่าย หรือมีก็น้อยมาก ตอนนี้ที่สวนก็เก็บขายสดเกือบหมดแล้ว เหลือไว้บ้างสำหรับท่านที่ไปเยี่ยมและสำหรับคนครอบครัวครับ......

วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

มะไฟลับแล ผลไม้ที่ออกปลายเมษา

เมืองลับแล เมืองมหัศจรรย์แห่งผลไม้  คำกล่าวที่ว่าคงไม่เกินความจริงมากนัก เพราะจะมีผลผลิตของพืชสวนออกทั้งปี เกือบทุกฤดูกาลของผลไม้ ใครจะเชื่อบ้างว่า มีผลสละของชาวลับแลออกวางขาย มีสะตอของชาวลับแลออกวางขาย ราคาก็ถูกกว่าของภาคใต้ด้วย อะโวคาโด  ผลไม้ที่ไม่คุ้นของคนไทยก็ปลูกได้ที่ลับแล ช่วงปลายเดือนเมษา นอกจากจะเริ่มมีทุเรียน มังคุด ออกช่วงนี้แล้ว ยังมีมะไฟ ออกมาวางจำหน่ายในราคาถูกอีกด้วย


 ทรงพุ่มมะไฟเหรียญทอง
มะไฟ เป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลมาก  มะไฟที่ปลูกในอำเภอลับแล ส่วนใหญ่มี 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ไข่เต่า ซึ่งถ้าอยู่ในที่ชื้นลูกก็จะโต ลักษณะผลส่วนใหญ่จะมี 3 พู แกะเปลือกออกจะเห็นมี 3 เมล็ด ถ้าลูกเล็กก็จะมี 2 พู  สุกแล้วรสหวาน  อมเปรี้ยวเล็กน้อย  เปลือกจะหนาเหมาะสำหรับขนส่งไกล ๆ
มะไฟไข่เต่า เมื่อปลอกเปลือกมี 2 - 3 เมล็ด
ส่วนอีกสายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ พันธุ์เหรียญทอง  มะไฟพันธุ์นี้ลูกจะโตกว่ามะไฟไข่เต่า  ผลมี  พู แกะเปลือกออกจะเห็นมี 4 เมล็ด สุกจัดแล้วรสจะหวาน บางคนชอบรับประทานหวานอมเปรี้ยว ก็เลือกรับประทานได้เลือกลูกที่สุกแต่ส่วนที่ติดขวั้นยังเขียวเล็กน้อย
มะไฟเหรียญทองเมื่อปลอกเปลือกมี 4 เมล็ด

วิธีปลูกก็ใช้ได้ทั้งการเพาะกล้าเมล็ด และตอนกิ่ง   การปลูกโดยเพาะเมล็ดก็จะใช้เวลานานกว่าจะไดผลผลิต แต่ถ้าซื้อกิ่งตอนที่เขาตอนขายมาปลูกก็จะได้ผลผลิตเร็วยิ่งขึ้น   ส่วนคนที่ปลูกมะไฟสายพันธุ์พื้นเมือง มะไฟป่า หรือสายพันธุ์อื่นไว้ อยากจะให้เป็นพันธุ์เหรียญทอง หรือไข่เต่าดูบ้าง ก็เลือกยอดของพันธุ์ที่ชอบ ยอดที่อวบ อั้นยอดแล้วคือไม่มียอดอ่อน   ตัดยาวประมาณ 3 – 4 นิ้ว เด็ดใบออกให้หมด แล้วนำไปต่อยอดต้นเดิม จะเป็นการต่อโดยเสียบยอด หรือทาบยอดลงบนกิ่งก็ได้ ท่านก็จะได้มะไฟพันธุ์เหรียญทอง หรือพันธุ์ไข่เต่าไว้รับประทาน ผลไม้ชนิดนี้ บางจังหวัดที่เคยมีปลูก เดี๋ยวนี้ชักจะไม่ค่อยมีให้เห็น และเพื่อเป็นการอนุลักษณ์ผลไม้ไทย ก็หาต้นพันธุ์ปลูกไว้ในบริเวณบ้านบ้าง ดูแลง่าย ไม่ค่อยมีแมลงรบกวน ถึงฤดูก็ออกดอกผลให้รับประทาน

ที่สวนห้วยผึ้ง จันทน์ผา มีปลูกไว้ทั้ง 2 สายพันธุ์ ต้นยังเล็กอยู่(ในภาพ) ให้ผลผลิตไม่มากนัก  แต่ที่สวนของคุณลุง หรือสวนของอาจารย์ ที่อยู่ติดกัน ของเขาต้นใหญ่ ต้นหนึ่งได้หลายร้อยกิโล เวลามองไปที่ต้นขณะมีผล เป็นพวงสุกสีเหลืองสวยงามครับ
มะไฟเหรียญทองบนต้น
มะไฟเหรียญทอง ขนส่งสู่ตลาด

ที่ตลาดผลไม้เทศบาลหัวดง อำเภอลับแล ก็มีวางขายทั้งปลีกและขายส่ง ราคาก็อยู่ที่ประมาณ 10 กว่าบาท ต่อกิโลกรัม ถ้าซื้อทุเรียนแล้ว ก็ลองซื้อมะไฟกลับไปฝากเพื่อนฝูง ครอบครัวบ้างนะครับ เป็นผลไม้พื้นเมืองของไทย วิธีรับประธานก็ง่าย ปลอกเปลือก ก็เห็นเนื้อขาวนวนใส บางคนก็กลืนทั้งเมล็ด บางคนก็ปลิ้นเอาเมล็ดออก บางคนก็นำไปปรุงก่อนโดยแกะเปลือกเอาแต่เมล็ดแล้วนำไปคลุกกับพริกเกลือแล้วตักรับประทาน อร่อยอย่าบอกใคร  พูดแล้วน้ำลายไหล ........ลองหารับประทานดูนะครับ ช่วยชาวสวนมะไฟอีกทางหนึ่งด้วย ..ขอบคุณครับ

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

หลงลับแล ทุเรียนอร่อยของอุตรดิตถ์

หลายคนได้ยินคำว่า เมืองลับแล จะต้องถามว่าเมืองนี้มีจริงหรือ?  เมืองลับแล มีจริงตามภูมิศาสตร์ เป็นอำเภอ ๆ หนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์  ส่วนลับแลเมืองแม่ม่ายในตำนาน มีเล่าขานกันหลายจังหวัด.....ท่านจะไปเที่ยวเมืองลับแลที่เป็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ ที่มีผลไม้นานาพันธุ์ ต้องไปที่อำเภอลับแล  จังหวัดอุตรดิตถ์...
หมู่บ้านชาวลับแล มองผ่านทุ่งนา

เมื่อขับรถออกจากเมืองอุตรดิตถ์ ไปทางทิศตะวันตก ถึงเขตอำเภอลับแล ถึงป้อมตำรวจชาวบ้านเรียกป้อมเนินหนึ่ง  มองไปข้างหน้าจะเห็นผืนป่าอันเขียวชอุ่ม ที่มีภูเขาอยู่ลิบ ๆ ภูเขาที่เห็นนี้เป็นภูเขากั้นระหว่างอำเภอลับแล กับ อำเภอศรีสัชชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ไม่น่าเชื่อว่าผืนป่าไม้ที่เขียว อยู่ข้างหน้าในป่าไม้นั้นเป็นเมือง และเป็นตัวอำเภอเสียด้วย มีต้นหมาก ต้นมะพร้าว ต้นลางสาด ต้นไม้นานาชนิด ปลูกผสมผสานกันไปกับการก่อสร้างบ้านเรือนของชาวลับแล
ประตูเมืองลับแล
หากท่านไปถึงประตูเมืองลับแลมองไปทางเหนือ จะเห็นภูเขาสลับซับซ้อน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวลับแล เป็นเขตตำบลฝายหลวง  ตำบลแม่พูล  และตำบลนานกกก  ทั้ง 3 ตำบลนี้มีอาชีพเป็นชาวสวนผลไม้เสียส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการปลูกทุเรียน และที่มีชื่อมากที่สุดก็คือ ทุเรียนหลงลับแล

ทุเรียนหลงลับแล ที่สวนห้วยผึ้ง จันทร์ผา
หลงลับแล วางจำหน่ายตลาดผลไม้หัวดง

ทุเรียนหลินลับแล วางจำหน่ายที่ตลาดหัวดง 

 
ทุเรียนหมอนทอง ที่สวนห้วยผึ้ง จันทร์ผา


หมอนทอง วางจำหน่ายที่ตลาดผลไม้หัวดง


ทุเรียนหลงลับแล ต้นเดิมอยู่ที่หมู่ที่ 7 บ้านผามูบ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เจ้าของคือนายลม นางหลง อุประ  เป็นชาวตำบลแม่พูล อำเภอลับแล  ซึ่งก่อนที่จะโด่งดังและแพร่พันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการประกวดทุเรียน ในงานเทศกาลประกวดทุเรียนของชาวตำบลแม่พูล  เป็นทุเรียนพื้นเมืองที่ชนะเลิศเมื่อปี พ.ศ.2520
ทุเรียนพื้นเมือง
ทุเรียนที่ออกสู่ตลาดขณะนี้มี ทุเรียนพื้นเมือง ทุเรียนหลงลับแล ทุเรียนหลินลับแล ทุเรียนหมอนทอง และทุเรียนชะนี  ถ้าท่านไปที่ตลาดผลไม้เทศบาลหัวดง  ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล  ท่านจะพบทุเรียนที่แม่ค้าวางเป็นกอง ๆ ละ 10 ลูก นั่นคือทุเรียนพื้นเมือง ทุเรียนพื้นเมืองจะแบ่งเป็น 3 ขนาด คือขนาดใหญ่ชาวลับแลเรียกทุเรียนหัว  ขนาดกลางเรียกทุเรียนรวม  ขนาดเล็กและทุเรียนที่มีตำหนิ เรียกทุเรียนแผ่  ถ้าท่านซื้อทุเรียนที่มีขนาดกลางและมีขนาดใหญ่ปนอยู่บ้างชาวแม่ค้าลับแลจะบอกว่าทุเรียนรวมหัว  จะแพงกว่าทุเรียนรวม  แต่จะถูกกว่าทุเรียนหัว  เพราะกองนั้นจะมีทุเรียนขนาดกลางผสมกับทุเรียนขนาดใหญ่ 
ทุเรียนหมอนทอง
นอกจากนี้ท่านยังสามารถเลือกซื้อผลไม้อื่นที่เป็นผลผลิตของชาวลับแลได้อีก เช่น มังคุด มะม่วง มะไฟ ชมพู่ รวมถึงสินค้าแปรรูป เช่น ทุเรียนกวน กล้วยกวน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชาวลับแลแท้ ๆ
มังคุด ขณะนี้ออกสู่ตลาดมาก

มะม่วง ที่สวนห้วยผึ้ง จันทร์ผา
ทุเรียนหลงลับแล ราคาช่วงนี้แม่ค้าขายอยู่ที่กิโลละ 100 บาทขึ้นไป ส่วนทุเรียนหลินลับแล ราคาก็จะแพงกว่า สำหรับท่านที่ไปเที่ยวหัวดง ต้องการทุเรียนของชาวสวนลับแล แต่ไม่ทราบว่าจะซื้อที่ไหนหรือกลัวว่าจะไม่ได้ของแท้  หรือต้องการต้นกล้าพันธุ์หลงลับแล หลินลับแล ที่ตัดต่อพันธุ์โดยชาวสวนลับแลแท้ ๆ ก็ติดต่อได้ที่ ผมเองหรือที่แม่บ้านก็ได้ หมายเลขโทรศัพท์แม่บ้าน คุณจำเนียร ม่วงสีเมืองดี 0869284180 ที่ให้ติดต่อกับแม่บ้านเพราะส่วนใหญ่ผมอยู่บ้านสวน   ติดต่อมาก่อนยินดีอำนวยความสะดวก  รับรองราคาไม่แพงจะพาให้ไปตกลงกับแม่ค้าผู้ขายเอง  ส่วนต้นพันธุ์ ที่บ้านผมพอมี ผมให้ชาวสวนที่ฝีมือดีทำให้มีอยู่ 100 กว่าต้น  เพื่อที่จะเอามาต่อต้นหมอนทองปีนี้  เ พราะชาวสวนเลือกยอดพันธุ์จากต้นที่ชนะเลิศการประกวดต่อกล้าให้   ถ้าท่านใดสนใจก็พอจะแบ่งให้ได้   ติดต่อที่แม่บ้านนะครับราคาไม่แพง

ทุเรียนทอด
ทุเรียนกวน


วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

ภัยแล้ง...ทุกข์ของชาวสวน

ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ผืนป่าที่เขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์  เริ่มมีไฟป่าส่งหมอกควันปกคลุมผืนฟ้า ทำให้เกิดมลภาวะ ชาวภาคเหนือเดือดร้อนกันยกใหญ่ แต่พอเข้าช่วงเดือนเมษายน บางพื้นที่มีฝนตก ลมแรง หมอกควันในบางจังหวัดเริ่มคลี่คลาย แต่ที่ลับแล กลับไม่มีฝนตก หรือตกก็น้อยมาก ทำให้อากาศร้อนจัด จากสภาพอากาศที่ร้อน และแล้งเช่นนี้ทำให้มีผลกระทบต่อพืชผลของชาวสวนอย่างมาก จนเข้าสู่ภาวะภัยแล้ง

ฤดูฝนที่เขียวชอุ่ม
ภัยแล้ง ที่มีผลกระทบต่อชาวสวนอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม  เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หนักสุดเห็นจะเป็นช่วยตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน  เป็นต้นมา  ยอดพืช  ใบพืช ผลไม้ โดยเฉพาะลองกอง ใบไหม้ กิ่งแห้ง ทั้ง ๆ ที่ให้น้ำทุก 3 5 วัน ต่อครั้ง ขณะนี้เริ่มแห้งตาย  ชาวสวนก็ได้แต่มองตาปริบ ๆ  สภาวะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 หลังน้ำท่วมดินถล่ม ก็เกิดภัยแล้งอย่างหนัง ต้นไม้ยืนต้นตาย บางต้นก็ถูกเผาไหม้ กินเนื้อไม้เข้าไปครึ่งต้น
ฤดูแล้งต้นไม้แห้งตาย
ภัยแล้งเมื่อปี 2550
ช่วงนี้ทุเรียน เริ่มสุกก่อนแก่ คือเริ่มร่วง การร่วงจะร่วงทั้งขั้วผล หรือมีบ้างที่ร่วงเหมือนผลสุก แต่ผลยังไม่แก่ ปล่อยทิ้งไว้โคนต้น  
2 3 วัน ก็จะแตกมีกลิ่นหอมเหมือนทุเรียนสุก
ผลทุเรียนที่ร่วง สุกก่อนแก่
ส่วนผลที่ยังไม่ร่วงก็ต้องดูแล ให้น้ำกันต่อไป ผลเริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม คงมีชาวสวนตัดทุเรียนหมอนทองวางตลาดได้ ท่านที่ไปเที่ยวที่ตลาดผลไม้เทศบาลหัวดง ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล ก็คงได้เห็นทุเรียนหมอนทอง วางจำหน่ายบ้างแล้ว
หมอนทองที่เหลืออยู่ก็รอเก็บเกี่ยว
ปกติไฟป่ามักจะไหม้ป่าและลามเข้ามาใกล้สวนช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ แต่ปีนี้มีไฟป่ารอบ 2  มีมือเผาป่าเผาช่วงเดือนเมษายนด้วย ทั้ง ๆ ทางราชการประกาศหามเผาป่า เผาหญ้า แต่ไม่มีใครฟัง ตอนนี้ก็เลยต้องอยู่สวนระวังไฟป่าอีกรอบ นี่แหละครับ พอแล้ง  ร้อนก็ร้อน ผลผลิตก็ถูกธรรมชาติเล่นงาน ยังมีมนุษย์มือดีที่ทำให้ชาวสวนเดือดร้อนอีก ไม่รู้จะทำอย่างไร  ก็คงต้องดูแลกันต่อไป
 ถ้าท่านพอมีเวลาว่าง วันหยุดช่วงนี้ถ้ามีโอกาสขึ้นไปทางภาคเหนือ อย่าลืมแวะให้กำลังใจชาวสวนอย่างพวกเราบ้าง ถึงแม้ท่านจะซื้อผลผลิตจากพ่อค้า แม่ค้าที่ตลาดเทศบาลหัวดง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์     ผลพลอยได้ก็คือพวกเราชาวสวนคือมีตลาดส่ง ทำให้มีความหวังอยู่บ้างในการทำสวน  สงสารชาวสวนพื้นบ้านจริง ๆ ครับ....



วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

เที่ยวเขื่อนสิริกิติ์ อุตรดิตถ์ ช่วงสงกรานต์

สงกรานต์ปี 2555 ที่อุตรดิตถ์ปีนี้ ได้มีโอกาสต้อนรับญาติ ๆ จากกรุงเทพ และสระบุรี ซึ่งเดินทางมาเยี่ยม และพักผ่อนวันสงกรานต์ ตามธรรมเนียมของชาวลับแล ก็ต้องต้อนรับขับสู้กันหน่อย ขาดเสียไม่ได้คือการไปทำบุญใส่บาตรที่วัด ปีนี้ไปทำบุญที่วัดศรีอุทุมพรคณารักษ์ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และวันรุ่งขึ้นเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวภายในจังหวัด จุดแรกเลือกไปที่เขื่อนสิริกิติ์ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์            
"เขื่อนสิริกิติ์" เดิมเขื่อนนี้ เรียกชื่อว่า เขื่อนผาซ่อม ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นามว่า เขื่อนสิริกิติ์  เมื่อ พ.ศ. 2511 โดยก่อสร้างปิดกั้นแม่น้ำน่าน บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
 ที่นี่ปีนี้ทางเขื่อนอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวดีมาก .... ที่จอดรถให้จอดบนสันเขื่อน ขึ้นทางฝั่งน้ำด้านเหนือ แต่พอขากลับให้ลงทางฝั่งน้ำด้านใต้ เรียกว่าขับรถขึ้นไปพักผ่อนชมวิว รับประทานอาหารเสร็จ ก็เดินทางผ่านสันเขื่อนลงอีกด้านหนึ่งฝั่งใต้ของแม่น้ำน่าน ทำให้มองเห็นภาพอ่างเก็บน้ำเต็มตาเลยครับ ...
สันเขื่อน.....อ่างเก็บน้ำช่วงเมษา 2555


ลงจากรถก็เจอเจ้าถิ่นสีสวยมาก

            บรรยากาศบนสันเขื่อนก็มีนักท่องเที่ยวมากันอย่างล้นหลาม มีซุ้มร้านอาหารจำหน่าย ครอบครัวนักท่องเที่ยวนำรับประทานอาหารกันเป็นกลุ่ม ๆ  อาหารที่ขึ้นชื่อของร้านบนสันเขื่อนคือ ปลาเผา ส้มตำ หมูย่าง ฯลฯ อร่อย ๆ ทั้งนั้น
ที่สะดุดตาก็คือมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งกำลังสำรวจความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่ออาหารพื้นบ้านวัฒนธรรมล้านช้างจังหวัดอุตรดิตถ์  รูปแบบของน้อง ๆ นักศึกษาก็คือ ปรุงอาหารพื้นบ้านประมาณ 11 อย่าง มาบริการให้นักท่องเที่ยวชิม ใครชิมแล้วชอบชนิดไหนก็จะตักใส่ภาชนะพลาสติก ให้ไปนั่งทานได้ พร้อมกับมีข้าวเหนียวห่อใบตองให้ด้วย

นักท่องเที่ยวกำลังชิมอาหารพื้นบ้านและกรอกแบบสำรวจ
 ผมเห็นเป็นกิจกรรมที่น่าส่งเสริมก็เลยชวนญาติๆเข้าไปชิมและตอบแบบสอบถาม ผมเคยรับราชการอยู่แถบอำเภอที่มีวัฒนธรรมนี้เป็นเวลาหลายปี เห็นว่าน้อง ๆ กลุ่มนี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ และเลือกกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้านของแถบนี้ไว้ จึงภูมิใจและสนับสนุนครับ  ผมจะแนะนำอาหารที่น้อง ๆ ทำมาให้ชิมทีละอย่างนะครับ...
   

                            เอาะผัก 
แกงเอาะผัก (เป็นชื่อเรียกของชาวอำเภอน้ำปาด อำเภอฟากท่า อำเภอบ้านโคก รวมถึงพี่น้องชาวลาว  )  
หน้าตาอาหารจานนี้ถ้าไม่ใส่ไก่ ก็คล้าย ๆ จอผักกาดของทางภาคเหนือเลยละ
           




เอาะไก่

 อีกจานคือเอาะไก่ จานนี้เหมือน ๆ กับแกงหยวกใส่ไก่ ใส่กะทิด้วย รสชาติอร่อยไปอีกแบบ

  
แกงหมักหมี้ปลาย่าง

จานนี้เป็นแกงหมักหมี้ปลาย่าง  (แกงขนุนใส่ปลาย่าง)  แกงนี้ถือเป็นมงคลสำหรับคนที่ชอบเอาเคล็ดเรื่องการเสริมดวง เขาว่ากันว่ากินแกงขนุนวันขึ้นปีใหม่จะมีความรุ่งเรือง ร่ำรวย เพราะกินของหนุนมา  ถ้าจะให้ดีก็ใส่หมู ใส่กล้วยด้วยจะยิ่งดีไปใหญ่ ทำอะไรจะได้หมู ๆ กล้วยๆ    ดูหน้าตาแกงจานนี้กัน
          
              

จานนี้แกงหมักหมี้ใส่กระดูกหมู  พูดถึงขนุนตอนนี้ทุกสวนจะออกลูกดก กินได้ทั้งสุก ดิบก็นำมาประกอบเป็นอาหารอย่างที่น้อง ๆ ทำกัน ชาวเขตอำเภอน้ำปาด ฟากท่า บ้านโคกเรียกขนุนว่า หมักหมี้    




อ่อมบอนหนัง

จานนี้เป็นอ่อมบอนหนัง   บอนเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ขึ้นในที่ชื้นมีน้ำขัง นำมาประกอบอาหารหรือเลี้ยงสัตว์ ถ้านำมาประกอบอาหารต้องทำให้เป็นไม่เช่นนั้นจะคันเมื่อเวลารับประทาน คนในหมู่บ้านจะมีแม่ครัวที่แกงเก่ง ๆ  อยู่ไม่กี่คน แต่ละคนก็จะมีเคล็ดลับเป็นของตัวเอง ส่วนหนัง คือหนังหมู หรือหนังวัว หรือหนังควาย ที่นำมาเคล้าเกลือตากแห้งเวลาทำต้องแช่น้ำก่อน ....ตอนที่ย้ายมารับราชการใหม่ ๆ ขึ้นมาพื้นที่เขตนี้ เอาหนังที่เขาหมักเกลือตากแห้งแล้ว นำไปย่างไฟ ทุบ ๆ ให้แตกนำมาเคี้ยว(เหนียวมาก) แกล้มสาโท  อร่อยอย่าบอกใคร
             

อ่อมบอนหมู
จานนี้เช่นกันเป็นแกงที่ทำจากบอน แต่ใส่หมู  ใส่กะทิด้วย



แกงหน่อไม้
จานนี้ขาดไม่ได้ทางพื้นที่แถบนี้ ถ้าไปนิเทศงานทุกครั้งต้องบอกให้เตรียมอาหารพื้นบ้านแบบนี้ไว้เลย นั่นคือแกงหน่อไม้ ใส่น้ำคั้นใบย่านาง 

แกงหน่อไม้ทรงเครื่อง
ส่วนจานนี้เป็นแกงหน่อไม่ทรงเครื่อง หน้าตาน่ารับประทานมาก ใส่ฟักทอง บวบ  ใส่เห็ดขอนขาว(เห็ดที่ขึ้นในท้องถิ่น) อร่อยครับจานนี้






แกงหยวก  
จานต่อไปเป็นอาหารท้องถิ่นที่มีเกือบทุกหมู่บ้าน นั่นคือ แกงหยวก  บางพื้นที่ก็ใช้หยวกกล้วยน้ำว้า แต่บางพื้นที่ใช้กล้วยป่าที่ชาวบ้านเรียกว่ากล้วยหก จะกรอบ อร่อยมากเมื่อนำมาแกง น้อง ๆ เลือกแกงใส่ไก่ เป็นไก่พื้นบ้านเข้ากันครับ เวลามีงานบุญกองข้าว จะได้กินกันบ่อย ๆ





แกงหยวกใส่กะทิ
นี่เป็นอีกจานที่ทำยากหยวกกล้วย เป็นแกงหยวกใส่กะทิ คนชอบกะทิ ก็จานนี้เลยครับ จานนี้น้อง ๆ ใส่เส้นขนมจีนตากแห้งลงไปด้วย เป็นแกงพื้นเมืองทางนี้จริง ๆ เพราะแกงบางชนิดเขาจะใส่เส้นขนมจีนตากแห้งไปด้วยครับ


แกงผักหวาน
สุดท้ายแกงยอดฮิตของวัฒนธรรมพื้นเมืองแถบนี้ คือแกงผักหวาน ถ้าจะให้ได้รสชาติจริง ๆ ต้องใส่ไข่มดแดง ถ้าท่านขับรถจากอุตรดิตถ์ ขึ้นไปทางน้ำปาด ฟากท่า บ้านโคก ท่านจะเห็นยอดผักกองบนพื้นแคร่ไม้ไผ่ข้างทาง และมีห่อใบตองวางมากมาย นั่นคือยอดผักหวาน ซึ่งจะเริ่มออกตั้งแต่เดือนมีนาคม จนต้นเดือนพฤษภาคม และ จะมีจานใส่วัตถุเป็นเม็ดๆ สีขาว ๆ ให้ท่านลงไปดูได้เลยนั่นคือไข่มดแดง  แต่ที่น้อง ๆ ทำวันนี้น้องเลือกใส่ไก่ เพราะไข่มดแดงแพงมาก นั่นเอง  ดูหน้าตาแกงจานนี้กันครับ

พาญาติ ๆ และแนะนำนักท่องเที่ยวชิมฝีมืออาหารพื้นเมืองของวัฒนธรรมล้านช้างอุตรดิตถ์จนครบทุกอย่าง น้อง ๆ บริการน้ำครบถ้วน  แล้วเดินชมวิว ทิวทัศน์ แวะร้านขายของฝาก ซื้อปลาเผา แล้วเดินทางต่อไปยังจุดท่องเที่ยวอื่น  อิ่มใจครับที่ได้มาถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ได้เหยียบแผ่นดิน ได้กินอาหาร ได้สำราญกับธรรมชาติ ของจังหวัดอุตรดิตถ์....... 
ขอขอบคุณน้อง ๆ ทีวิจัยทุกคน อาจารย์ที่ปรึกษา และผู้ร่วมกิจกรรมดี ๆ ด้วยความจริงใจครับ   และถ้ามีโอกาสเชิญให้คำแนะนำ  ที่สวนห้วยผึ้ง จันทน์ผา ลับแลบ้างครับ ยินดีต้อนรับ...............

วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

กว่าจะมาเป็น...ส้มตำมะละกอ

หลายคนคงเคยรับประทานส้มตำ ซึ่งเดิม ๆ นั้นมีเพียงส้มตำมะละกอเพียงอย่างเดียว  ต่อมามีการปรับปรุงเป็นตำผลไม้ 
ตำรวมมิตร ฯลฯ  แต่ที่ขาดไม่ได้คงหนีไม้พ้นส้มตำมะละกอ  และแต่ละสูตร แต่ละร้านก็มีสูตรเด็ดของแต่ละคนไป  บางร้าน
ก็เลือกมะละกอ เอาเฉพาะพันธุ์ที่ตัวเองคิดว่าอร่อยที่สุด แต่บางร้านก็ไม่เลือกขอให้เป็นมะละกอเป็นอันใช้ได้ 
ตำไทย กับตำปูปลาร้า ทานกับกากหมู(ลับแลเรียกแคบหมู)

ส้มตำมะละกอของแต่ละจังหวัด แต่ละภาค ก็จะต้องใช้มะละกอในพื้นที่ เพราะจะสด กรอบ การที่จะรอซื้อจากตลาดที่เป็นศูนย์กลางคงไม่สะดวกแน่ กว่าจะได้มะละกอมา อาจจะสุกเสียก่อน 


มะละกอสำหรับทำส้มตำ


ท่าน ทราบไหมว่ามะละกอ คนปลูกเขาปลูกกันอย่างไร วันนี้ผมจะบอกวิธีที่ผมปลูกให้ท่านทราบ  ซึ่ง บางคนใช้เพาะเมล็ด โดยนำเมล็ดจากต้นที่คัดเลือกมาเพาะในถาดเพาะ พองอกแล้วก็จะย้ายลงถุงเพื่อดูแล โตพอสมควรก็นำไปปลูกในแปลง หรือตามหัวไร่ ปลายนา ในบ้านก็ตามริมรั้ว  การเพาะเมล็ดส่วนใหญ่จะกลายพันธุ์ ผู้ปลูกบางคนก็เลือกเอาเมล็ดจากผลแรกของต้น เพราะเชื่อ
ว่าจะไม่กลายพันธุ์ บางคนก็ซื้อที่เขาเพาะเนื้อเยื่อ   มะละกอที่ปลูกส่วนใหญ่อายุพอเลย 3-4 ปี ต้นก็จะเรียวสูง ผลก็จะเล็กลง   ชาวสวนบางท่านก็ใช้วิธีทำสาว คือการตัดต้นเดิมที่สูง เหลือตอไว้ประมาณ 1 เมตร แล้วรอให้กิ่งงอกออกมา ก็จะได้ต้นเดิมที่
เตี้ย แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าจะมีผลให้รับประทาน


มะละกอทำสาว

มะละกอตอนกิ่ง


วิธีของผมทำปลูกที่สวนและมะละกอไม่กลายพันธุ์แน่นอน นั่นคือการตอนกิ่ง  การตอนกิ่งที่ผมทำ ก็ทำง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก เตรียมอุปกรณ์ เช่นดินสำหรับพอกกิ่ง  ไม้สำหรับดามกิ่ง  ถุงพลาสติกสำหรับกั้นแผลไม่ให้ติดกันบางคนใช้ไม้ลิ่มตอกกั้นแผล และ เชือกฟางสำหรับมัด
 
พอเตรียมอุปกรณ์ครบ ก็เลือกต้นมะละกอที่เราถูกใจที่มีกิ่งหลาย ๆ กิ่ง หรือเลือกจากต้นที่ล้ม เอน มีกิ่งอวบ ๆ สวย ๆ เราก็ทำการดามกิ่งด้วยไม้ มัดหัวท้ายของไม้ป้องกันไม่ให้กิ่งหัก แล้วใช้มีดคม ๆ เฉือนขึ้นเป็นปากฉลาม ให้เข้าไปในเนื้อกิ่ง 2 ใน 3 ส่วน เสร็จแล้วก็เอาพลาสติกยัดเข้าไปกั้นแผล หรือบางท่านใช้ไม้เป็นลิ่มแทรกกั้นแผล  แล้วใช้ดินหุ้ม มัดให้เรียบร้อย หมั่นดูแลอย่าให้ดินแห้ง ประมาณเดือนเศษ ๆ ก็จะมีรากออกมา เราก็ตัดไปชำ  พอแข็งแรงดี เราก็นำไปปลูกในที่ที่ต้องการ ไม่เฉพาะคนที่ทำสวนนะครับ พื้นที่ในบ้านก็ทำได้ เราก็จะได้ต้นมะละกอที่เตี้ย ไม่กลายพันธุ์  ทำได้ทุกสายพันธุ์  ครับ

กิ่งตอนที่ตัดชำพร้อมปลูก

หมั่นดูแลรดน้ำ ไม่เกิน 2 เดือน ก็ได้ผลมะละกอสำหรับทำส้มตำแล้ว หรือบางพันธุ์จะเก็บไว้กินสุกก็ได้ ดูแลง่ายเพราะเตี้ย ผลมะละกอสุกนกก็ไม่ค่อยมากวนเพราะต้นเตี้ย ลองพิจาณาดูนะครับ ทำไม่ยาก ผมขอตัวไปทานส้มตำมะละกอก่อน...
                                     
ภาพซ้ายมะละกอกิ่งตอนเทียบกับด้ามจอบ                       ภาพขวามะละกอเพาะเมล็ด